ประวัติ

วัดใหม่ หรือตามที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานว่า วัดใหม่ (ยายแป้น) ตั้งอยู่เลขที่ ๖๓ ถนนบางขุนนนท์ ซอย ๒ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในอดีตด้านหน้าวัดติดกับคลองบางกอกน้อยหรือแม่น้าเจ้าพระยาสายเดิม ปัจจุบันเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมจากทางน้ำเป็นทางบก ด้านหน้าวัดจึงติดกับถนนบางขุนนนท์ ซอย ๒ ส่วนด้านข้างวัดติดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ตามหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒ วัดใหม่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๐ ในรัชกาลที่ ๓
 
สันนิษฐานตามคำบอกเล่าผู้รู้สืบ ๆ กันมาว่า คุณยายแป้น เป็นผู้บริจาคที่ดินและสร้างวัด หลักฐานซึ่งจารึกชื่อไว้ที่ระฆังใบเก่าแก่ของวัด สร้างไว้ พ.ศ. ๒๓๙๒ บนหลังคาอุโบสถหลังเก่ามีไก่ ๒ ตัว เป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างเสร็จในปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๑ ดังนั้นเกี่ยวกับนามวัด ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่ยายแป้น” วัดนี้สันนิษฐานว่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๒
 
จารึกที่ระฆังใบเก่า “ท่านผู้หญิงแปน นายฟัก นายทอง มีศรัทธาสร้างระฆังไวยไนยพระพุทธศาสนา เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ วัน ๖ ปีจอโทศก พระวระพุทธศาสนาล่วงแล้วโดย ๒๓๙๒ พรรษา ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน” สันนิษฐานว่าท่านผู้หญิงแป้นหรือยายแป้น เป็นผู้มีศรัทธาบริจาคที่ดินสร้างวัดมาก่อนหน้านั้น ต่อมาท่านผู้หญิงแป้นและคณะจึงได้ถวายระฆังใบนี้เอาไว้ในคราวฉลองวัด ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในส่วนของการบันทึกการบูรณะเจดีย์ท่านผู้หญิงแป้น
ด้านหน้าอุโบสถ ด้านขวา
พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ ได้บูรณะเจดีย์
โดยครอบเจดีย์องค์เก่าเอาไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
มีข้อความว่า
สร้าง พ.ศ. ๒๓๑๔ คุณยายแป้น
 
จากการบันทึกที่เจดีย์ พ.ศ. ๒๓๑๔ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี และในทาง ภูมิศาสตร์ พื้นที่ของวัดใหม่ (ยายแป้น) และวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น วัดสุวรรณาราม , วัดศรีสุดาราม และ วัดเจ้าอาม ก็อยู่ในพื้นที่ของกรุงธนบุรีในอดีตจนมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ พบว่าท่านผู้หญิงแป้นเป็นน้องสาวท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) แม่วังกรุงธนบุรี เป็นต้นกุญแจห้องทั้งหมดในพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ท่านทองมอญ ก็นำพวงกุญแจทั้งหมดของพระราชวังเดิมมาถวายแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วท่านก็ลากลับไปอยู่บ้านเดิมของท่านที่อยุธยา
 
ตามประวัติศาสตร์ ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) สืบสายสกุลมอญมาจากพระยาเกียรติพระยาราม ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สามีท่านทองมอญ เป็นหม่อมเจ้าในกรุงเก่า กล่าวกันว่าหม่อมเจ้าองค์นี้เป็นโอรสของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) เจ้าฟ้ากุ้งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา นอกจากท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) จะมีพี่ชายอีกคนคือ เจ้าพระยารามจัตุรงค์ (มะซอน) ซึ่งเป็นขุนนางคนสำคัญในกรุงธนบุรี
 
ท่านทองมอญ ยังมีน้องเขยซึ่งเป็นสามีท่านผู้หญิงแป้น มีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ พระยาแก้วโกรพพิชัย (ขุนคางเหล็ก)
เจ้าเมืองพัทลุง (ลำปำ) พ.ศ. ๒๓๑๕ – ๒๓๓๒ สมัยกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า “พระยาพัทลุงขุนคางเหล็ก”